(แผนการฝึกอบรมที่ใช้โรงพยาบาลเป็นฐาน และ แผนการฝึกอบรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน)
กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วยโรงพยาบาลสมเด็จญาณสังวร (อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย) และโรงพยาบาลเวียงป่าเป้า (อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย) มีการจัดประชุมอาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่สำเร็จการฝึกอบรมจากสถาบัน และผู้ที่กำลังอยู่ในระหว่างการฝึกอบรมแพทย์สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อกำหนดพันธกิจแผนการฝึกอบรมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และได้เผยแพร่ไว้ ณ เว็บไซท์ของภาควิชา รวมถึงบอร์ดประชาสัมพันธ์ ณ สำนักงานกลุ่มงานเวชกรรมสังคม ไว้ดังนี้
อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของประชากรไทยในปี 2557 มีค่าประมาณ 71 ปีในเพศชาย และ 78 ปีในเพศหญิง ในขณะที่อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีในเพศชายมีค่าประมาณ 68 ปี ส่วนในเพศหญิงมีค่าประมาณ 74 ปี ซึ่งสาเหตุของความสูญเสียปีสุขภาวะ (Disability-Adjusted Life Years: DALYs) ในประชากรชาย ได้แก่ อุบัติเหตุทางถนน โรคหลอดเลือดสมอง การติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ โรคหัวใจขาดเลือด และการเสพติดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ตามลำดับ สำหรับประชากรหญิงสาเหตุของความสูญเสียปีสุขภาวะคือ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคข้อเสื่อม และการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ตามลำดับ 1
มีการศึกษาภาระโรคระดับเขตสุขภาพและภูมิภาคของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2554 พบว่าเขตบริการสุขภาพที่ 1 มีอัตราส่วนการตายปรับฐานอายุสูงกว่าอัตราของประเทศไทยทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยสาเหตุการตายรายโรคในเพศชายคือโรคหลอดเลือดสมองไม่แตกต่างจากระดับประเทศ แต่สาเหตุการตายรายโรคในเพศหญิงคือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งในระดับประเทศเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ในส่วนของภาระโรคพบว่าเขตบริการสุขภาพที่ 1 มีอัตราการสูญเสียปีสุขภาวะปรับฐานสูงสุดในเพศชาย โดยสาเหตุของการสูญเสียปีสุขภาวะในเพศชายเกิดจากการเสพติดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในขณะที่ของประเทศไทยเกิดจากอุบัติเหตุทางถนน ส่วนสาเหตุของการสูญเสียปีสุขภาวะในเพศหญิงคือ โรคหลอดเลือดสมอง ไม่แตกต่างจากระดับประเทศ 2
จากสาเหตุการเสียชีวิต และสาเหตุของการสูญเสียปีสุขภาวะส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรัง ที่ต้องได้รับการดูแลแบบ comprehensive care และ holistic care แต่ระบบการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยยังขับเคลื่อนด้วยโรงพยาบาลขนาดใหญ่และผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ที่ดูแลเป็นรายโรค เฉพาะอวัยวะ รวมถึงยังขาดการดูแลระดับปฐมภูมิที่สามารถให้การดูแลรักษาป้องกันโรคไม่ซับซ้อนที่พบได้มากมาย ทำให้เกิดปัญหาความแออัด ใช้เวลานานในการรอรับบริการ เกิดปัญหาการเข้าถึงบริการ และความเหลื่อมล้ำในการเข้ารับการรักษาพยาบาล
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงได้บัญญัติ 4 หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่างๆ ให้เกิดผล โดยที่เกี่ยวกับแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวไว้ดังนี้ “ให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม”
กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดสัดส่วนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวสำหรับการดูแลประชาชนที่เหมาะสมคือ 1 ต่อประชากร 10,000 คน ดำเนินการผ่านคลินิกหมอครอบครัว โดยมีเป้าหมายคลินิกหมอครอบครัว 6500 ทีม ภายในปี 2569 โดยข้อมูลเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2561 พบว่ามีคลินิกหมอครอบครัวที่เปิดดำเนินการสะสม 806 ทีม 5 จึงมีนโยบายส่งเสริมให้โรงพยาบาลศูนย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นแหล่งฝึกอบรมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวอย่างต่อเนื่อง
จังหวัดเชียงรายเป็น 1 ใน 8 จังหวัดของเขตบริการสุขภาพที่ 1 มีโรงพยาบาลศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์ขนาด 787 เตียง เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด จังหวัดเชียงรายมีพรมแดนติดกับประเทศพม่า ลาว พื้นที่ทางภูมิศาสตร์มีทั้งพื้นราบ และพื้นที่สูง ทำให้มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพ จึงต้องมีการเรียนรู้ในการจัดระบบบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมตามบริบทของแต่ละวัฒนธรรมอย่างมีคุณภาพ